Trauma คืออะไร? Trauma คือ บาดแผลหรือปมในใจ

5732 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Trauma คืออะไร? Trauma คือ บาดแผลหรือปมในใจ

Trauma คืออะไร?

 

 

 

Dr. Marid Kaewchinda 

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา

นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy



Trauma คือ บาดแผลหรือปมในใจ เป็นการตอบสนองด้านอารมณ์ที่เป็นผลกระทบมาจากประสบการณ์ด้านลบต่าง ๆ เช่น โดนทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน ถูกทารุณกรรมจากผู้อุปการะเลี้ยงดู โดนทำร้ายร่างกายจากสามี ภรรยาหรือคนที่รักจนทำให้เกิดอาการสับสน เสียใจ สะเทือนใจ หวาดกลัว แม้แต่การถูกปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่ได้รับการดูแล และยังรวมไปถึงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อื่นที่เกิดขึ้นกระทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว เช่น การสูญเสีย บุคคลอันเป็นที่รักมาตายจาก พลัดพราก อุบัติเหตุร้ายแรง หรือสถานการณ์ภัยอันตรายอย่างประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต้องหนีเอาชีวิตรอด เป็นต้น

 

อาการทางกายที่เกิดขึ้นในทันทีคืออาการช็อค และสภาพจิตใจอาจมีการตอบสนองด้วยการปฎิเสธไม่ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือไม่เชื่อว่ามีเรื่องเลวร้ายนี้เกิดขึ้นจริงกับตัวเอง การตอบสนองในลักษณะแบบนี้เป็นผลกระทบในระยะสั้น แต่การเกิดTrauma อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาวอีกด้วย

ผลกระทบจาก trauma มีอะไรบ้าง?

ผลกระทบระยะยาวนั้น trauma ส่งผลต่อสภาวะด้านจิตใจที่รบกวนอารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน ไม่คงที่ หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์รุนแรง หรือบางครั้งทุกข์ระทม เศร้าโศก เปราะบาง อ่อนไหวง่าย หรือมีอาการซึมเศร้าซึ่งไม่สามารถคาดเดาอารมณ์ล่วงหน้าได้ และมักจะเกิดขึ้นประจำ ๆ ส่งผลรบกวนการใช้ชีวิตในปัจจุบันไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้

ปฎิกิริยาตอบสนองด้านอารมณ์ที่เป็นผลกระทบระยะยาว อาจเกิด ภาพความทรงจำไม่พึงประสงค์ย้อนกลับมา (flashbacks) เกิดขึ้นในความคิดอีกครั้ง บางครั้งมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น อาการปวดหัว เวียนหัว ตัวสั่น และส่วนใหญ่ Trauma มักส่งผลกระทบด้านสัมพันธภาพกับผู้ใกล้ชิด และคนรอบข้างให้เป็นไปในทางลบ ทำให้เกิดความไม่เชื่อใจ ระแวงผู้อื่น และตัดขาดสัมพันธ์ หรืออยู่ด้วยกันแบบเหินห่างไม่ยุ่งเกี่ยวกัน

 

 

Trauma เรารู้จักกันว่าเป็น ‘บาดแผลทางใจ’ คืออาการที่เกิดมาจากมีเหตุการณ์ที่เลวร้ายมากระทบกระเทือนจิตใจ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่ ๆ ดังนี้

1. Acute Trauma (บาดแผลทางใจเฉียบพลัน)

เป็นเหตุการณ์ที่กระทบทางใจอย่างรุนแรง อาจเป็นเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตความอยู่รอด เช่น ประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต หรือการหนีตายจากภัยพิบัติ หรือรอดตายจากสงครามการสู้รบในสนามรบเป็นต้น

2. Chronic Trauma (บาดแผลทางใจเรื้อรัง)

เป็นการถูกกระทำ หรือโดนทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง ที่พบบ่อยมักจะเป็นประสบการณ์ด้านลบในวัยเด็กที่ถูกทารุณกรรม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทรมาน ถูกข่มขืน ถูกกลั่นแกล้ง ถูกล้อเลียน ถูกทอดทิ้ง เหตุการณ์เหล่านั้นมักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลายาวนาน

3. Complex Trauma (บาดแผลทางใจซับซ้อน)

เป็นความซับซ้อนที่มีหลายเหตุปัจจัย หลายเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนคนนั้นและเกิดในหลายช่วงวัยทำให้ยากต่อการฟื้นคืนของสภาวะทางจิตใจได้ด้วยตัวเอง

 

 

Trauma ส่งผลกระทบด้านจิตใจอย่างไร?

Trauma ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจต่อคนในรูปแบบที่แตกต่างกัน การตอบสนองทางร่างกายของคนเราเมื่อถูกกระทบด้านจิตใจจนทำให้เกิดความตึงเครียด การถูกคุกคามจากอีกฝ่าย หรือความรู้สึกว่าตนตกอยู่ในอันตรายนั้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน (cortisol and Adrenaline) สาร 2 ตัวนี้จะทำงานโดยอัตโนมัติ

ดังนั้นในแต่ละคนจะเกิดอาการแสดงออกที่แตกต่างกันดังนี้

1.Freeze คือ นิ่งไม่ตอบสนอง

2.Flop ทำตามไม่ขัดขืน

3.Fight ต่อต้านไม่ทำตาม

4.Flight หลบหนี หลีกเลี่ยง หรือ

5.Fawn พยายามเอาใจอีกฝ่ายเพื่อไม่ให้ถูกทำร้าย

การตอบสนองของร่างกายต่อความตึงเครียดที่เกิดจากผลกระทบด้านจิตใจนั้นส่งผลกระทบระยะยาวทั้งด้านร่ายกายและด้านจิตใจถึงแม้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะจบไปแล้วก็ตาม ผลกระทบต่อเหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติการมองโลก และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมตามมา

 

อาการที่เกิดจากTrauma มีอะไรบ้าง?

  • อาการ Flashbacks-เป็นการเห็นภาพเหตุการณ์เลวร้ายที่จบไปแล้วกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในจินตนาการ
  • อาการ Panic attacks-เป็นอาการทางร่างกายที่ตอบสนองต่อความกลัวอันตราย มีความเครียด และตื่นตระหนก
  • อาการ Dissociation-เป็นภาวะด้านจิตใจที่ต้องการหลีกหนีจากความจริงอันโหดร้ายที่เผชิญอยู่ และตอบสนองด้วยการไม่รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่จำจด ไม่คิดถึง ตัดขาดการเชื่อมโยงถึงสถานการณ์นั้น เลื่อนลอย จำอะไรไม่ได้ หากถึงขั้นรุนแรงอาจมีการสร้างตัวตนใหม่ขึ้นเป็นอีกบุคคลหนึ่ง อาการนี้เรียกว่าเป็นอาการของโรคหลายอัตลักษณ์เป็นโรคบุคคลิกภาพบกพร่องประเภทหนึ่ง หรือที่เรียกว่า dissociative personality disorders


    นอกจากนี้อาการที่กล่าวมายังส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาอื่นเกี่ยวกับการนอน เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัย หรือนึกคิดแต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว วนเวียนซ้ำเดิม และความวิตกกังวล อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการกินด้วยอาจส่งผลให้เกิด eating disorders ที่ส่งผลต่อภาวะโภชนาการตามมา

    การเกิดTrauma ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวเองด้วยเช่นกัน ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจหรือรู้สึกเป็นปมด้อยไม่มีคุณค่า ส่งผลกระทบด้าน self-esteem ของบุคคลคนนั้น

 

 

ผลกระทบมาจากTrauma ทำให้เกิดข้อเสียอะไรบ้าง?

 

  1. ทำให้ทุกข์ระทม อาจเป็นประสบการณ์จากการพลัดพรากหรือการสูญเสียคนสำคัญในชีวิต อาจสร้างบาดแผลทางใจและอาจทำให้ชีวิตเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
  2. ทำร้ายตัวเอง เพื่อเป็นการปลดปล่อยความเจ็บปวดในใจหรือพยายามหลีกหนีจากความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญ แต่อย่างไรก็ตามการทำร้ายตัวเองไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว
  3. มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และหาวิธีเพื่อจบชีวิต
  4. มีพฤติกรรมเสพติด ทุกพฤติกรรมการเสพติดโดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากบาดแผลทางใจ หรือ trauma ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดสารเสพติด แอลกอฮอล์ เสพติดการมีเซ็กส์ เสพติดการพนัน เสพติดการเล่นเกมส์ และอื่นๆอีกมากมาย
  5. ส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพร่างกายในระยะยาว

Trauma ทำให้คนอ่อนแอ เปราะบางด้านจิตใจและสามารถพัฒนากลายเป็นปัญหาความเจ็บป่วยเรื้อรังด้านร่างกายได้ เนื่องจากความเครียด และความวิตกกังวลเป็นเวลานานนับปี หรือเป็นหลายสิบปี มักส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจที่ทำงานสัมพันธ์กัน

 

 



EMDR กับการรักษาอาการ Trauma

ในปัจจุบันนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาได้ค้นพบวิธีการรักษาTrauma ด้วยวิธีบำบัดและเทคนิคทางจิตวิทยาต่าง ๆ มากมาย

จิตบำบัดอีเอ็มดีอาร์ (EMDR Psychotherapy) เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงประสิทธิภาพในการรักษาที่เห็นผลอย่างชัดเจนในระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับการปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยในประเด็นปัญหาหรือการทำ counseling หรือtalk therapy

EMDR Psychotherapy เข้าทำงานตรงกับสมองส่วนที่เก็บความทรงจำ หากความทรงจำด้านลบยังคงติดค้างอยู่ในสมองเมื่อเจอตัวกระตุ้นสมองจะตอบสนองด้านอารมณ์ที่เร็วและรุนแรงทันที ดังนั้นEMDR Psychotherapy จึงเข้าจัดการกับผลกระทบด้านความทรงจำอันเลวร้ายที่ติดค้างอยู่เพื่อให้สมองลดความตึงเครียด อย่างไรก็ตามควรได้รับการทำบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมด้านEMDR Psychotherapy มาอย่างดีโดยเฉพาะเท่านั้น

 

Trauma ควรได้รับการรักษาเพื่อให้เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้มีความสุขอย่างที่ควรจะเป็น และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เนื่องจาก Trauma ส่งผลกระทบด้านอารมณ์ที่ไม่คงที่ ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงตามและสร้างปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้างและคนที่เรารัก

 

อ้างอิง

https://www.camh.ca/en/health-info/mental-illness-and-addiction-index/trauma#:~:text=Trauma%20is%20the%20lasting%20emotional,regulate%20emotions%20and%20navigate%20relationships.

https://www.mind.org.uk/information-support/types-of-mental-health-problems/trauma/effects-of-trauma/

https://www.apa.org/ptsd-guideline/treatments/eye-movement-reprocessing

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้