Trauma คืออะไร? Trauma คือ บาดแผลหรือปมในใจ

42757 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Trauma คืออะไร? Trauma คือ บาดแผลหรือปมในใจ

 

Trauma คืออะไร?



 

 

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา 

Marid Kaewchinda (Ph.D)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy Practitioner
 
 

Trauma หรือ ปมบาดแผลทางใจ

เป็นการตอบสนองทางด้านอารมณ์ที่เป็นผลกระทบมาจากประสบการณ์ด้านลบ ประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ โดยอาจเกิดขึ้นกับตนเองโดยตรงหรือเป็นผู้พบเห็นผู้อื่นถูกกระทำ เราเรียกเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นว่า traumatic event

 

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือ traumatic event มักส่งผลต่อการเกิดปมบาดแผลทางใจต่างๆ เช่น เหตุการณ์ที่เราถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน เด็กที่ถูกทารุณกรรมจากผู้ใหญ่ที่อุปการะเลี้ยงดู ความรุนแรงในครอบครัวการ การถูกทำร้ายทั้งทางกายและทางใจ ปัญหาชีวิตคู่การถูกนอกใจ การถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง ประสบการณ์สูญเสีย เหตุการณ์สะเทือนใจ เหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว ทหารที่ผ่านศึกในสงคราม เด็กที่ถูกปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ รวมไปถึงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อื่นที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว เช่นภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้เป็นต้น เหตุการณ์ traumatic event มักสร้างให้เกิด trauma หรือปมบาดแผลทางใจ แต่ละคนจะมีการตอบสนองและการจัดการกับสภาวะทางอารมณ์เมื่อมีTraumaเกิดขึ้นจากเหตุการณ์หรือประสบการณ์อันเลวร้ายได้แตกต่างกัน และไม่เหมือนกันเลยในแต่ละคน

 

 

ผลกระทบจาก trauma มีอะไรบ้าง?
โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อ Traumatic event ในหลายรูปแบบ เช่นอาจปฎิเสธที่จะยอมรับมัน หรือ ทุกข์ทรมานกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งและจากนั้นก็จะค่อยๆดีขี้น

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจให้ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง หรือสามารถหายจากtrauma ที่เกิดจากประสบการณ์อันเลวร้ายนั้นได้ด้วยตัวเองทุกคน บางคนอาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา  เพราะฉนั้นหากเรามี trauma หรือปมบาดแผลทางใจที่ไม่สามารถจัดการหรือรับมือกับมันได้ด้วยตัวเองและสร้างความเจ็บปวดมายาวนานไม่หายไปจากใจควรรีบไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการบำบัดด้านจิตใจและไม่ควรปล่อยทิ้งไว้

 


จะเกิดอะไรขึ้นหากเราปล่อย trauma (ปมบาดแผลทางใจ) ทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการเยียวยาให้หาย?

บาดแผลทางใจหากปล่อยทิ้งไว้ไปเรื่อยๆโดยไม่ได้รับการบำบัดรักษาด้านจิตใจให้หายเป็นปกติ จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะด้านสุขภาพจิตที่แย่ลงและมีปัญหาสุขภาพร่างกายในเวลาต่อมา การไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาสภาพวะด้านจิตใจให้เป็นปกติจะส่งผลเสียทำให้เกิดเป็นโรควิตกกังวล แพนิค โรคทางจิตเวชต่างๆ ไบโพล่า อารมณ์แปรปรวน รุนแรง ซึมเศร้า โรคเครียด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดตีบตัน eating disorderโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง ส่งผลทางกระทบทางใจหรือโรคPTSD (Post-traumatic stress disorder)

 



Post-traumatic stress disorder (PTSD) คืออะไร?

PTSD เป็นภาวะด้านสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่ไม่ปกติหลังจากการเผชิญกับประสบการณ์อันเลวร้าย (traumatic event) โดยอาการมักเกิดขึ้นเมื่อมีตัวกระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์ที่ตนมีประสบการณ์อันเลวร้ายนั้น หรือบางครั้งความคิดถึงเหตุการณ์อันเลวร้ายนั้นก็โผล่ขึ้นมาในความคิดโดยไม่ทันตั้งตัวจนทำให้หวาดกลัวผวากับเหตุการณ์นั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

 



อาการที่พบบ่อยใน Post-traumatic stress disorder (PTSD) คืออะไร?

ปัญหาด้านสุขภาพจิตจากที่พบหลักๆหลังเกิดจากประสบการณ์อันเลวร้าย(Traumatic event) คือ กลับไปมีประสบการณ์เลวร้ายซำ้เดิม เช่น ฝันร้าย หรือภาพเหตุการณ์ตามหลอกหลอน มักเกิดจากสมองถูกรบกวนจากเหตุการณ์อันเลวร้ายประสบการณ์ด้านลบ (Traumatic event) และส่งผลต่อความคิด ส่งผลต่อการทำงานของสมองจนแสดงออกทางกาย บางครั้งมีภาพย้อนหวนนึกถึงเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์นั้นเกิดขึ้นอีกหรือที่เรียกว่า flash back นอกจากนี้ยังมักมีการแสดงออกแบบหลีกเลี่ยงสถานที่ บุคคลหรือกิจกรรมที่เคยทำให้เกิดTrauma และมักเกิดความรู้สึกอารมณ์ไม่ปกติ มีอาการชาเมื่อต้องเผชิญหน้ากับตัวกระตุ้น อีกอาการที่พบบ่อยและเป็นปัญหาเนื่องมาจาก Trauma คือผลกระทบด้านการนอน นอนหลับยาก นอนไม่ค่อยหลับ รวมทั้งส่งผลต่อการทำงาน ทำให้ไม่มีสมาธิ สมองไม่โฟกัสและมักถูกรบกวนจากความทรงจำเลวร้ายในอดีตอยู่เสมอ

PTSD มักส่งผลต่อภาวะเครียดรุนแรง หากเกิดในวัยเด็กยิ่งเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวเมื่อเติบโต ภาวะทางจิตที่มักพบบ่อยหลังประสบเหตุการณ์เลวร้ายที่สะเทือนใจ เช่น เครียด กังวลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า หวาดกลัว โกรธหงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวน มีความคิดลบอยู่ตลอดเวลาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น กล่าวโทษตัวเอง กล่าวโทษผู้อื่น ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ไม่เชื่อใจใครหรือไว้ใจใคร ตัดขาดจากสังคม และคนรอบข้าง หรือพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ กิจกรรม สิ่งของ ผู้คนที่อาจทำให้หวนนึกถึงความทรงจำอันเลวร้ายนั้นอีก

อย่างไรก็ตามหากบังเอิญพบสิ่งที่กระตุ้นความทรงจำอันเลวร้ายก็มักจะแสดงปฎิกิริยาก้าวร้าวหรือหวาดกลัวอย่างกระทันหันโดยไม่มีสามารถควบคุมตัวเองได้ในบางราย แต่ก็ไม่เสมอไปทุกคนซึ่งในบางคนอาจมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเสี่ยงๆ และประมาท ไม่แคร์ตัวเองและแสดงออกแบบไม่รักตัวเอง

 


การเกิด PTSD ใช้เวลานานแค่ไหนหลังเหตุการณ์ traumatic event?

อาการ PTSD สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาหลังประสบเหตุการณ์อันเลวร้าย โดยแต่ละคนอาจเริ่มมีอาการในระยะเวลาไม่เท่ากัน บางคนประมาณหนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์อันเลวร้าย หรือบางคนอาจกินเวลาเป็นหลายเดือนหรือเป็นปีก่อนที่อาการจะค่อยๆปรากฏ

อาการที่มีมักส่งผลต่อการหวนคิดถึงเหตุการณ์น่ากลัวนั้นอีกและบ่อยครั้งทำให้ไม่มีสมาธิในการโฟกัสและความคิดนั้นมักรบกวนจิตใจอยู่ตลอดเวลา ส่งผลทำให้บางครั้งเกิดอาการหวาดผวา หวาดกลัว วิตกกังวล หวาดระแวง มีความคิดลบต่อการใช้ชีวิตและทัศนคติที่ไม่ดีกับคนรอบข้าง



PTSD และ Complex PTSD ต่างกันอย่างไร?

Traumatic events ทำให้เกิด Trauma และTrauma ส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกรวมทั้งด้านจิตใจทำให้เกิดเป็น PTSD หรือ Complex PTSD  ที่มักส่งผลต่อสภาวะด้านจิตใจที่รบกวนอารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน ไม่คงที่ หงุดหงิด ฉุนเฉียว อารมณ์โมโหรุนแรง หรือบางครั้งทุกข์ระทม เศร้าโศก เปราะบาง อ่อนไหวง่าย หรือมีอาการของโรคซึมเศร้าซึ่งไม่สามารถคาดเดาอารมณ์ล่วงหน้าได้ และมักจะเกิดขึ้นประจำๆ ส่งผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้



รู้ได้อย่างไรว่าเรามีTrauma หรือปมบาดแผลทางใจ?

หลังเผชิญกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ มักสร้างให้เกิดปมบาดแผลทางใจหรือTrauma และอาการมักแสดงออกดังนี้เช่น วิตกกัวล ควบคุมความคิดมากในเหตุการณ์เลวร้ายนั้นไม่ได้ ซึมเศร้า แยกตัวออกห่างสังคม หวาดกลัว รู้เจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ อับอาย เสียหน้า มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ติดสุรา อาการต่างๆเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่าเรามีภาวะTrauma

Trauma หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการเยียวยาบำบัดด้านจิตใจอาจพัฒนาไปในทางเลวร้ายมากขึ้นทำให้สุขภาพจิตย่ำแย่และเสี่ยงต่อการเกิด post-traumatic stress disorder (PTSD) หรือ Complex PTSD ได้

สาเหตุของ complex PTSD มักเกิดจาก traumatic events เหตุการณ์ที่สร้างปมบาดแผลทางใจที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ต่อเนื่องหลายเหตุการณ์หรือถูกกระทำเป็นเวลายาวนาน เช่น เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เกิดในช่วงวัยเด็ก การถูกทอดทิ้งและถูกกระทำชำเรา ก็จะทำให้ปมบาดแผลทางใจมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การถูกทำร้ายทุบตี ถูกข่มขืนล่วงละเมิดหรือตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เหล่านี้ล้วนสร้างให้เกิดความซับซ้อนในการเยียวยาด้านจิตใจ และเป็นการยากที่จะเยี่ยวยาและฟื้นฟูบำบัดจิตใจให้หายเป็นปกติได้ด้วยตัวเอง

 

Traumaแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะดังนี้

1. Acute Trauma (บาดแผลทางใจเฉียบพลัน)

เป็นเหตุการณ์ที่กระทบทางใจอย่างรุนแรง อาจเป็นเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตความอยู่รอด เช่น ประสบอุบัติเหตุจนเกือบเสียชีวิต หรือการหนีตายจากภัยพิบัติ หรือรอดตายจากสงครามการสู้รบในสนามรบเป็นต้น

2. Chronic Trauma (บาดแผลทางใจเรื้อรัง)

เป็นการถูกกระทำ หรือโดนทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง ที่พบบ่อยมักจะเป็นประสบการณ์ด้านลบในวัยเด็กที่ถูกทารุณกรรม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทรมาน ถูกข่มขืน ถูกกลั่นแกล้ง ถูกล้อเลียน ถูกทอดทิ้ง เหตุการณ์เหล่านั้นมักเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นระยะเวลายาวนาน

3. Complex Trauma (บาดแผลทางใจซับซ้อน)

เป็นความซับซ้อนที่มีหลายเหตุปัจจัย หลายเหตุการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนคนนั้นและเกิดในหลายช่วงวัยทำให้ยากต่อการฟื้นคืนของสภาวะทางจิตใจได้ด้วยตัวเอง

 

Trauma ส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจต่อคนในรูปแบบที่แตกต่างกัน การตอบสนองทางร่างกายของคนเราเมื่อถูกกระทบด้านจิตใจจนทำให้เกิดความตึงเครียด การถูกคุกคามจากบางสิ่งบางอย่างหรือจากบางคนมักส่งผลต่อสมองและการหลั่งฮอร์โมน หากเรารู้สึกว่าตนเองกำลังตกอยู่ในอันตรายร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน (cortisol and Adrenaline) สาร 2 ตัวนี้จะทำงานโดยอัตโนมัติทำให้แต่ละคนจะเกิดอาการแสดงออกที่แตกต่างกันดังนี้

อาการที่แสดงออกเช่น

1. Freeze นิ่งไม่ตอบสนอง

2. Flop ทำตามไม่ขัดขืน

3. Fight ต่อต้านไม่ทำตาม

4. Flight หลบหนี หลีกเลี่ยง

5. Fawn พยายามเอาใจอีกฝ่ายเพื่อไม่ให้ถูกทำร้าย

การตอบสนองของร่างกายต่อความตึงเครียดที่เกิดจากผลกระทบด้านจิตใจนั้นส่งผลกระทบระยะยาวทั้งด้านร่ายกายและด้านจิตใจถึงแม้ว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะจบไปแล้วก็ตาม ผลกระทบต่อเหตุการณ์เหล่านั้นส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติการมองโลก และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามมา

Trauma

นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายและจิตใจที่เป็นปัญหาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตัวเองด้วยเช่นกัน ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจหรือรู้สึกเป็นปมด้อย ไม่มีคุณค่า ส่งผลกระทบด้าน self-esteem ทำให้มีself-esteemที่ต่ำ ขาดความเชื่อมั่นด้านจิตใจ

Trauma ทำให้คนอ่อนแอ เปราะบางด้านจิตใจและสามารถพัฒนากลายเป็นปัญหาความเจ็บป่วยเรื้อรังด้านร่างกายได้ เนื่องจากความเครียด และความวิตกกังวลเป็นเวลานานนับปี หรือเป็นหลายสิบปี มักส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจที่ทำงานสัมพันธ์กัน


 

ผลกระทบมาจากTrauma ทำให้เกิดข้อเสียอะไรบ้าง?

  • ทำให้ทุกข์ระทม โศรกเศร้า  เช่น ประสบการณ์จากการพลัดพรากหรือการสูญเสียของรัก คนรัก คนสำคัญในชีวิต และอาจสร้างบาดแผลทางใจทำให้ชีวิตเปลี่ยนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
  • ทำร้ายตัวเอง เพื่อเป็นการปลดปล่อยความเจ็บปวดในใจหรือพยายามหลีกหนีจากความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญอยู่อาจทำร้ายตัวเอง กล่าวโทษตัวเอง 
  • มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หาวิธีเพื่อจบความทุกข์ทรมาน
  • มีพฤติกรรมเสพติด ทุกพฤติกรรมการเสพติดโดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากบาดแผลทางใจ หรือtrauma ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดสารเสพติด แอลกอฮอล์ เสพติดการมีเซ็กส์ เสพติดการพนัน เสพติดการเล่นเกมส์ เสพติดช้อปปิ้ง หรืออื่นๆ
  • ผลเสียต่อปัญหาด้านสุขภาพร่างกายในระยะยาว 

จากงานวิจัยพบว่า ปมบาดแผลหรือTrauma หากปล่อยไว้ส่งผลต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต อันเนื่องมาจากโรคต่อไปนี้ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับอักเสบ โรคมะเร็ง เส้นเลือดอุดตันในสมอง โรคเบาหวาน พฤติกรรมฆ่าตัวตาย และการใช้ชีวิตอย่างประมาท รวมทั้งการใช้ยาเกินขนาดด้วย เหล่านี้มักมีสาเหตุมาจากtrauma ที่ไม่ได้รับการรักษาให้หายเป็นปกติ

 



 
Trauma และ Post-traumatic stress disorder (PTSD) กับการรักษาด้วยจิตบำบัด EMDR

ในปัจจุบันนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาได้ค้นพบวิธีการรักษาTrauma ด้วยวิธีบำบัดและเทคนิคทางจิตวิทยาต่างๆมากมาย

จิตบำบัดอีเอ็มดีอาร์ หรือ EMDR trauma therapy นับว่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงประสิทธิภาพในการรักษาที่เห็นผลอย่างชัดเจนในระยะเวลาอันสั้นเมื่อเทียบกับการปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยในประเด็นปัญหาหรือการทำ counseling หรือ talk therapy แบบธรรมดาทั่วไป

EMDR trauma therapy จะเข้าทำงานตรงกับสมองส่วนที่เก็บความทรงจำ หากความทรงจำด้านลบยังคงติดค้างอยู่ในสมองเมื่อเจอตัวกระตุ้นสมองจะตอบสนองด้านอารมณ์ที่เร็วและรุนแรงทันที ดังนั้น EMDR trauma therapy จึงเข้าจัดการกับผลกระทบด้านความทรงจำอันเลวร้ายที่ติดค้างอยู่เพื่อให้สมองลดความตึงเครียด อย่างไรก็ตามควรได้รับการทำบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมด้าน EMDR trauma therapy มาอย่างดีโดยเฉพาะเท่านั้น



หากต้องทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลทางใจจนเกิดเป็น Trauma จากประสบการณ์อันเลวร้ายไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ให้ค้างอยู่ในใจ แต่ควรได้รับการรักษาเพื่อให้เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้มีความสุขอย่างแท้จริง การปล่อยปมบาดแผลให้ติดค้างอยู่ในใจ และทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไข  ส่งผลกระทบด้านอารมณ์ที่ไม่คงที่ ทำให้สภาวะทางจิตใจถูกรบกวน และทำงานไม่เป็นปกติส่งผลเสียต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต

นอกจากนี้การไม่ดูแลบำบัดจิตใจและละเลยสุขภาพจิตของตัวเองยังกระตุ้นให้เกิดปัญหาด้านอารมณ์ที่รุนแรง รวมทั้งสุขภาพทางกายก็ได้รับผลกระทบเกิดเป็นโรค ความเจ็บป่วยต่างๆเนื่องจากร่างกายมักถูกกระตุ้นจากภาวะทางจิตอยู่ตลอดเวลา

Trauma ยังส่งผลกระทบด้านความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนรอบข้างและคนในครอบครัว การทำจิตบำบัด หรือได้มาปรึกษาพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพจิตที่ส่งมักส่งผลต่อร่างกายและสัมพันธภาพในครอบครัวได้เป็นอย่างมาก การเยียวยาบาดแผลด้านจิตใจที่เกิดจากtraumaเป็นเรื่องสำคัญดังนั้นควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดการปมบาดแผลทางใจและฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะ PTSD หรือ complex PTSD ในเวลาต่อมา

 

อ้างอิง
https://www.camh.ca/en/health-info/mental-illness-and-addiction-index/trauma#:~:text=Trauma%20is%20the%20lasting%20emotional,regulate%20emotions%20and%20navigate%20relationships.
https://www.mind.org.uk/information-support/types-of-mental-health-problems/trauma/effects-of-trauma/
https://www.apa.org/ptsd-guideline/treatments/eye-movement-reprocessing
https://www.psychiatry.org/patients-families/ptsd/what-is-ptsd
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/relationship-and-trauma-insights/202101/how-know-if-you-or-loved-one-is-suffering-trauma

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้