174 จำนวนผู้เข้าชม |
การทำบำบัดด้านจิตใจต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะหาย?
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนส่วนใหญ่มาทำบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยามักตั้งคำถามนี้อยู่ในใจ ว่าตัวเองควรต้องทำจิตบำบัดนานแค่ไหน และมักคาดหวังผลที่น่าพอใจในเวลาอันรวดเร็ว คำตอบของคำถามนี้มีหลากหลายและเป็นคำตอบที่ไม่ตายตัว
การที่เราตัดสินใจเลือกมาพบผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจนั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่กล้าหาญที่กล้าลุกขึ้นมาปกป้องดูแลจิตใจของตัวเอง
การทำจิตบำบัดช่วยให้เราสามารถจัดการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตและที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์ ความรู้สึก ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และกับตัวเองให้มีแนวทางการแก้ไขกับปัญหาชีวิตได้เป็นอย่างดี การบำบัดด้านจิตใจเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรามีพลังในการต่อสู้ รับมือกับปัญหา มีหลักทางความคิดและการตัดสินใจที่จะนำสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ดีขึ้นและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป
แต่ทำไมการมาบำบัดด้านจิตใจในของแต่ละคนจึงเห็นผลช้า-เร็วที่แตกต่างกัน?
แต่ละคนมีปัญหาที่ซับซ้อนและระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน การรับรู้ปัญหาในแต่ละคน ความอ่อนไหว ความรู้สึกสะเทือนใจของแต่ละปัญหาที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ปัญหาลักษณะคล้ายกันบางคนอาจรู้สึกอ่อนไหวมากๆ ในขณะที่บางคนอาจรับรู้ถึงความเลวร้ายแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจจนเกินไปและรับมือกับมันได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นที่มากระทบจิตใจมาจากปัจจัยภายนอก ปัญหาที่เราต้องเผชิญในทุกวัน หรือเผชิญอยู่ตลอดเวลาส่งผลกระทบต่อจิตใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการมารับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา คือการช่วยให้เราสามารถสร้างความแข็งแกร่งขึ้นได้ภายในจิตใจเพื่อต่อสู้กับสิ่งเร้าจากภายนอกได้
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าคนที่มาบำบัดด้านจิตใจ และสามารถก้าวหน้ากับการรักษาด้วยจิตบำบัดมักมีลักษณะชัดเจนดังนี้
1. กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
คนที่ก้าวหน้ากับการทำจิตบำบัดมักมีความพร้อมและต้องการสร้างความเข้มแข็งในจิตใจโดยอาศัยความช่วยเหลือด้านจิตวิทยาจากผู้เชี่ยวชาญ มองว่าการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงแนวทางในการนำไปสู่เป้าหมายของการเปลี่ยงแปลงที่ดีให้ชีวิต คนที่พัฒนาและมีความก้าวหน้ากับการทำจิตบำบัดมักมีทัศนคติที่เชื่อว่าตัวเองสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ สามารถหายเป็นปกติได้ และตัวเองเท่านั้นที่จะต้องเป็นคนแก้ปัญหาที่อยู่ในใจและต่อสู้กับความอ่อนแอของตัวเอง และเข้าใจว่าปัจจัยภายนอกไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหาที่แท้จริง
คนที่ทำบำบัดแล้วไม่ก้าวหน้ามีแนวคิดที่คาดหวังว่าปัจจัยภายนอกสำคัญมากกว่าการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และต้องพึ่งพาบางสิ่งบางอย่างในการแก้ปัญหาให้กับชีวิตตัวเองได้ และเข้าใจว่าปัจจัยภายนอกจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนความทุกข์ที่มีของตนให้เป็นความสุขได้ เช่น ต้องเปลี่ยนงานใหม่ให้มีการงานที่ดีกว่านี้ชีวิตถึงจะมีความสุข ต้องมีเงินทองมากกว่านี้ชีวิตถึงจะมีความสุข หรือต้องให้ใครคนนั้นมาอยู่ด้วยชีวิตถึงจะมีความสุข ความคิดเหล่านี้เป็นการคาดหวังที่อาจไม่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นแต่เป็นการคาดหวังความสุขจากปัจจัยภายนอกซึ่งลักษณะแบบนี้ เรียกว่า Fairy Godmother Syndrome ซึ่งเป็นการรอความหวังที่อาจไม่เกิดขึ้นจริง และหลักคิดแบบไม่สามารถนำพาตัวเองไปสู่ความก้าวหน้าในการทำบำบัดด้านจิตใจเพื่อให้พบกับชีวิตที่มีความสุขได้อย่างมั่นคงถาวร
2. กล้าละทิ้งภาพจำในอดีตของตัวเอง
การมาทำบำบัดแล้วไม่ได้ผลอาจเป็นเพราะไม่ละทิ้งตัวตนแบบเดิม และยึดติดกับความเชื่อเก่าเกี่ยวกับตัวเองที่เคยถูกนิยามโดยคนอื่น ยึดติดกับแนวทางการใช้ชีวิตแบบเดิม คลุกคลีอยู่สังคมและคนรอบข้างที่ทำร้ายตัวเองเหมือนเดิม การทำบำบัดจะได้ผลที่ดีเมื่อมีการละทิ้งภาพจำเดิมของตัวเองและลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเอง การละทิ้งภาพจำของตัวเองในอดีตทำให้เราได้เรียนรู้ว่าทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้เกิดขึ้นทุกวัน ไม่มีอะไรเหมือนเดิม การบำบัดที่ไม่ก้าวหน้าเกิดจากการที่เราต้องการยึดทุกอย่างที่มีให้เป็นอย่างเดิม ไม่ยอมละทิ้งและไม่ยอมปล่อยวาง
3. กล้าที่จะปฎิวัติตัวเอง
การลุกขึ้นมาดูแลจิตใจตัวเอง รักตัวเอง ห่วงใยตัวเอง ทำให้ตัวเองเข้มแข็งขึ้น ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย เป็นสัญญาณว่าเราได้ลงมือทำบางสิ่งเพื่อตัวเอง และมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น การเรียนรู้และเข้าใจตัวเองเป็นการสร้างตัวตนขึ้นใหม่เพื่อพร้อมในการต่อสู้กับอุปสรรคให้ได้ดีกว่าเดิม
4. ทำการบ้าน
หลายคนมีไฟในการปรับเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นเฉพาะในชั่วโมงที่เข้ารับบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญประมาณหนึ่งชั่วโมง แต่หลังจากกลับบ้านทุกอย่างเหมือนเดิม ดังนั้นหากคาดหวังความก้าวหน้าในการทำจิตบำบัดควรนำข้อแนะนำไปทำตามเป็นการบ้าน อ่านหนังสือ ดูวิดีโอที่ช่วยสร้างเสริมการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจให้เติบโต เข้มแข็ง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนทัศนคติการใช้ชีวิตให้เป็นเชิงบวก มองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ
5. มีความตระหนักรู้และรับผิดชอบ
การบำบัดจะสามารถก้าวหน้าได้หากเราตระหนักรู้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเรานั้น เราเองเท่านั้นต้องเป็นคนแก้ไขมันด้วยตัวเอง และรับผิดชอบลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตัวเอง การโทษสิ่งต่างๆ รอบตัวไม่ได้ช่วยให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงที่ดีใดๆ หากสังคมที่เราอยู่เลวร้ายสร้างบาดแผลทางใจให้เรา เราควรเตรียมพร้อมรับมือในการสร้างเกราะทางใจที่แข็งแกร่งเพื่อต่อสู้และป้องกันตัวเอง
ระยะเวลาในการมาทำบำบัดของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย นอกจากเทคนิควิธีการบำบัดที่เลือกใช้แล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านระดับความแข็งแรงทางจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัดด้วยว่ามีสภาวะความแข็งแกร่งด้านจิตใจเป็นอย่างไร
ผลการอ้างอิงจาก American Psychological Association ได้เก็บข้อมูลสถิติค่าเฉลี่ยของคนที่เข้ารับบำบัดโดยผลสรุปจะเห็นผลที่ดีขึ้นเมื่อการทำบำบัดเริ่มเข้าสู่ครั้งที่ 15-20 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามการอ้างอิงผลการบำบัดอาจไม่เป็นไปตามนี้เสมอไป หากมีเงื่อนใดอื่นเข้ามารบกวน เช่นปัญหาที่ซับซ้อน และระดับความรุนแรงที่มากเกินปกติ สภาวะทางจิตใจที่ถูกทำร้ายมาเป็นเวลายาวนานและเรื้อรัง ก็อาจส่งผลต่อระยะเวลาการบำบัดที่ยาวกว่า
สาเหตุหลักที่คนรับการทำจิตบำบัดแล้วไม่เห็นผล คือความคาดหวังที่อยากจะหลุดพ้นจากความทุกข์ใจอย่างรวดเร็วและไม่อดทน ความไม่ต่อเนื่องในการรับการบำบัดหรือล้มเลิกการทำจิตบำบัดกลางคันก่อนที่จะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงในการรักษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการทำบำบัด ดังนั้นหากเริ่มการทำจิตบำบัดด้วยวิธีใดแล้วควรอดทนและใช้เวลาทำอย่างเนื่องไม่น้อยกว่า15 ครั้งหรืออาจมากกว่านั้นในบางกรณี จนกว่าจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเพื่อลดการกลับไปเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่กลับมาทำบำบัดอีก
อ้างอิง
https://www.verywellmind.com/how-long-should-i-be-in-therapy-6452627
https://www.columbiadoctors.org/news/how-do-you-know-when-youre-done-therapy#:~:text=Therapy%20can%20be%20a%20critical,right%20time%20to%20stop%20therapy%3F