Good Stress or Toxic Stress
เป็นความเครียด..ที่ดี หรือ คือความเครียด..ที่เป็นพิษ
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา
Dr. Marid Kaewchinda (Ph.D)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy
ความเครียดเป็นสิ่งที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นเรื่องของการดูแล การปกป้อง และการเอาตัวรอด เช่น ภาระหน้าที่การงานที่ถึงกำหนดเวลาที่ต้องส่ง กิจกรรมโรงเรียนของลูกที่ต้องไปร่วม ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องจัดการตอนใกล้สิ้นเดือน หลายครั้งและบ่อยครั้ง..ความเครียดลักษณะนี้ช่วยทำให้เรามีแรงผลักดันในชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้า เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เราต้องทำภารกิจที่ท้าทายให้สำเร็จลุล่วง
ดังนั้น...กล่าวได้ว่าความเครียด ไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป หากแต่เราสามารถจัดการกับความเครียดและแยกแยะให้ออกว่าแบบไหนคือความเครียดที่ดี และแบบไหนคือความเครียดที่เป็นพิษ
ความเครียดที่ดี VS ความเครียดที่เป็นพิษ (Good Stress VS Toxic Stress)ความเครียดที่ดี Good Stress ความเครียดที่ให้เราเกิดความรู้สึกตื่นเต้น ชีพจรเต้นแรง ฮอร์โมนหลั่งสารเพื่อทำตอบสนองต่อความเครียดนั้น ความเครียดลักษณะนี้ไม่ได้ส่งผลทำให้เราหวาดกลัวหรือเสียขวัญ ความรู้สึกอาจเหมือนตอนเล่นรถไฟเหาะตีลังกา หรือชนะเกมส์การแข่งขันอะไรสักอย่าง
ความเครียดที่ดีจะคงอยู่เพียงระยะเวลาสั้นๆ และมันจะช่วยให้เรามีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่น ทุ่มเทพลังงานเพื่อทำให้ภาระกิจนั้นสำเร็จและออกมาดี
ความเครียดที่ดีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตเรา..ได้แก่อะไรบ้าง- การเตรียมตัวสอบ
- เตรียมตัวแต่งงาน
- เตรียมตัวมีลูก
- กำลังจะซื้อบ้านใหม่
- กำลังจะเริ่มงานใหม่
ความเครียดเหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างความเครียดที่ผลักดันให้เราทำสิ่งที่กำลังกังวลให้สำเร็จ และเป็นความเครียดที่อยู่เพียงชั่วคราว ปฏิกิริยาที่มีทางร่างกายคือสมองจะทำการสั่งให้ต่อมไร้ท่อหลั่งฮอร์โมน อย่าง Cortisol หรือ Adrenaline ทำให้เลือดสูบฉีดไปทั่วร่างกายเพื่อเป็นการจัดการกับความเครียด อย่างไรก็ตามความเครียดที่ดีจะไม่มีผลทำให้ร่างกายเป็นอันตรายหากต้องรับมือกับความเครียดลักษณะนี้ในระยะเวลาสั้นๆ
ความเครียดที่เป็นพิษ (Toxic Stress)ความเครียดที่เป็นพิษ (Toxic stress) ส่งผลร้ายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้จิตใจมีแต่ความวิตกกังวล และไม่สามารถออกจากวังวนความคิดสับสน ไม่สบายใจได้ ไม่มีสมาธิกับเป้าหมาย ทำให้ผลการทำงานตกต่ำลง
ความเครียดที่เป็นพิษมี ทั้งแบบระยะสั้น (Acute) และระยะยาว (Chronic)
หากความเครียดที่เป็นพิษเกิดขึ้นในระยะสั้น โดยที่เราสามารถหาทางแก้ไขได้ด้วยการพักผ่อน หาวิธีคลายความเครียด หากิจกรรมอย่างอื่น เพื่อเปลี่ยนจุดโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว จะเป็นการช่วยการยับยั้งไม่ให้เกิดเป็นความเครียดสะสมที่จะส่งผลกลายเป็นความเครียดระยะยาวได้
ความเครียดสะสมระยะยาวส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายอย่างร้ายแรง เช่น ทำให้เกิดอาการปวดหัว นอนไม่หลับ น้ำหนักเพิ่ม หรือลดเกิดภาวะวิตกกังวล เจ็บป่วยเรื้อรังและส่งผลต่อความดังโลหิตสูง
สาเหตุปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียดระยะยาว เช่น- ปัญหาสัมพันธภาพ การหย่าร้าง ทะเลาะเบาะแว้ง แตกแยกกับคนรัก หรือเพื่อนรัก
- ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรม หรือถูกทอดทิ้ง
- ปัญหาด้านการเงิน
- ปัญหาจากที่ทำงาน การทำงานหนักภายใต้ความกดดันสูง หรืองานที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่สิ้นสุด
- ปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจที่เจ็บป่วยมานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขให้หายขาด
- ปัญหาการถูกกีดกัน แบ่งแยกทางสังคม
- ภาวะเครียดจากการสูญเสียคนที่รักมาจากไป หรือตายไป
ความเครียดที่เป็นพิษ ส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ของร่างกาย ทั้งระบบต่อมไร้ท่อ ระบบการย่อย การหายใจ ระบบสืบพันธุ์ และระบบการทำงานที่เป็นปกติของสารเคมี สารสื่อประสาทต่างๆ ในสมอง
ทั้งความเครียดที่ดีและความเครียดที่เป็นพิษ ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนทางร่างกาย หรือ สารadrenaline และ cortisol ทำให้เกิดภาวะท้องไส้ปั่นป่วน ใจเต้นเร็ว มือเย็น เป็นปฏิกิริยาการตอบสนองทางร่างกายต่อประสบการณ์ความเครียดเหล่านั้น อย่างไรก็ตามหากความเครียดที่เป็นพิษไม่ได้รับการแก้ไขจัดการและถูกละเลยจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายในระยะยาวและสามารถทำลายสุขภาพจิตใจอย่างร้ายแรง
ความเครียดที่เป็นพิษส่งผลร้ายทำลายสุขภาพทำให้เจ็บป่วยด้านใดบ้าง
สูญเสียความทรงจำ เช่นสมองเสื่อม ความจำเสื่อม
- โรคอ้วน
- หงุดหงิดง่าย
- โรคขาดสมาธิ
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวล
- โรคหัวใจ
- โรคนอนไม่หลับ
- โรคความดันโลหิตสูง
ดังนั้นนั่นจึงเป็นเหตุผลที่สำคัญว่า ทำไมเราถึงต้องรีบแก้ไขจัดการกับความเครียดที่แย่และเป็นพิษให้เร็วที่สุดโดยไม่รอช้า
วิธีรับมือและจัดการกับความเครียดที่เป็นพิษหากความเครียดที่เป็นพิษเริ่มเข้ามาครอบงำชีวิตมากขึ้น ควรหาให้เจอว่าอะไรคือตัวการแห่งความเครียดที่แท้จริงและหาวิธีจัดการกับความเครียดที่เป็นพิษนั้นด้วยวิธีดังนี้
1. ลดสาเหตุปัญหาความเครียดเรียนรู้ที่จะปฎิเสธงานเพิ่มเติมและเริ่มบริหารจัดการงานตัวเองด้วยการทำเช็คลิสเพื่อให้สามารถจัดการเวลาได้ เมื่อการจัดเวลาดีขึ้นปัญหาความเครียดก็จะลดลง
2. ยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ในชีวิตหากเรื่องใดที่เราควบคุมไม่ได้ก็ไม่ควรไปเครียดและควรโฟกัสให้ความใส่ใจกับสิ่งที่ควบคุมได้แทน
3. คิดบวกเสมอจำไว้ว่าความคิดลบส่งผลต่อพฤติกรรมด้านลบดังนั้นให้พยายามคิดบวกแม้ในสถานการณ์ที่แย่ความคิดที่เป็นบวกอาจช่วยพลิกสถานการณ์ร้ายให้เป็นดีได้
4. หาคนช่วย หาคนที่ไว้ใจได้ปรับทุกข์เพื่อให้ความเครียดลดลงแต่หากมาพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาได้จะเป็นการดีมากกว่า เพื่อให้เราได้ผ่อนคลายความกังวลใจและไม่เป็นการสร้างความเครียดเพิ่มโดยไม่รู้ตัว
5. ฝึกฝนวิธีผ่อนคลายความเครียดพยายามหาเวลาในการผ่อนคลายความเครียดทุกๆ วันด้วยการเบรกจากงานที่ทำให้เครียด และใช้เวลากับการออกกำลังกาย และฝึกสมาธิ หรือโยคะ
6. รักษาสมดุลสุขภาพนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์บำรุงร่างกาย ออกกำลังกายและทำใจให้ผ่อนคลายจากอารมณ์หงุดหงิด
นอกจากนี้แล้วควรเฝ้าระวัง และตระหนักรู้ถึงภัยของความเครียดที่เป็นพิษที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวในชีวิตด้วยการสังเกตด้านต่างๆรอบตัวและมีการเฝ้าระวังความเครียดที่เป็นพิษทำโดยทำดังนี้1. สังเกตพฤติกรรมการกินควรกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการช่วยลดความเครียดในปริมาณที่เหมาะสม เช่น สมุนไพร เครื่องเทศ ปลา ผักใบเขียว หรือ ขิง และผงขมิ้นที่มีสารต่อต้านความเครียดและวิตกกังวล
2. สังเกตความคิดตัวเอง การฝึกสมาธิ ทำให้ใจสงบ กำหนดลมหายใจเข้าออก จะสามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลและความกลัวได้
3. สังเกตการณ์เงื่อนไขในชีวิตตัวเองการปฏิเสธ..บางครั้งก็ทำให้ชีวิตไม่ต้องเจอสถานการณ์ที่เป็นปัญหายุ่งยาก แต่หากเราปฏิเสธทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตโดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เป็นการยากต่อการหาสมดุลให้กับชีวิต และสร้างความเครียดให้กับตัวเองในภายหลัง
4. สังเกตการหายใจของตัวเองพยายามหายใจเข้า-ออก ให้ลึกและช้าเพื่อช่วยให้การทำงานของหัวใจได้ทำงานช้าลง ให้สมองได้ใช้ความคิดมากขึ้นและให้การตอบสนองด้านอารมณ์เป็นไปในทางบวกเพิ่มขึ้น
5. สังเกตการเคลื่อนไหวของตัวเองการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ เราควรออกกำลังกายทุกวัน หรืออย่างน้อยก็ควรใช้เวลาสัก 15 นาทีในการเคลื่อนไหว และควรออกห่างจากการใช้คอมพิวเตอร์
6. สังเกตคนที่อยู่รอบตัวการมีเพื่อนหรือครอบครัวที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนนั้นเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเวลาที่เกิดปัญหา หรืออยากปรับทุกข์ ระบายความในใจ อย่างไรก็ตามหากเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสารกับคนใกล้ชิด หรือหากไม่มีใครเลยที่จะสามารถจะพูดคุยรับฟังปัญหาได้ ควรมาพบนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการช่วยเหลือในแบบที่เป็นมืออาชีพในการรับฟัง ไม่ตัดสิน ไม่ลำเอียงในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ก็จะเป็นการช่วยลดความเครียดหรือความกังวลที่มีอยู่ได้
ไม่ว่าจะความเครียดที่ดีหรือความเครียดที่เป็นพิษ หากเกิดภาวะเครียดสะสม ไม่สามารถจัดการความเครียดได้ ทำให้เกิดความเครียดมากจนเกินไปโดยไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ทั้งนั้น ดังนั้นไม่ควรชะล่าใจ แต่ควรมาพบนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับการแก้ไขโดยด่วน
https://www.talkspace.com/blog/good-stress-vs-bad-stress/
https://www.summahealth.org/flourish/entries/2021/01/stress-management-how-to-tell-the-difference-between-good-and-bad-stress