Smiling depression (ภาวะซึมเศร้าภายใต้รอยยิ้ม) คือภาวะซึมเศร้าแบบไหน?

13618 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Smiling depression (ภาวะซึมเศร้าภายใต้รอยยิ้ม) คือภาวะซึมเศร้าแบบไหน?

Smiling depression (โรคซึมเศร้าภายใต้รอยยิ้ม) หรือโรคซีมเศร้าหน้ากาก คือโรคซึมเศร้าแบบไหน?

 

ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา
Dr. Marid Kaewchinda (Ph.D)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
นักจิตบำบัด EMDR Psychotherapy/ Brainspotting Psychotherapy Practitioner

Smiling depression (ภาวะซึมเศร้าภายใต้รอยยิ้ม) คือภาวะซึมเศร้าแบบไหน?

ภาวะซึมเศร้าภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้ม (Smiling depression) เป็นพฤติกรรมหลบซ่อนอาการของผู้มีภาวะซึมเศร้า ไม่บอกใครหรือจะเรียกว่าเป็นภาวะซึมเศร้าในลักษณะใส่หน้ากาก (Mask depression)

คนที่มีภาวะซึมเศร้าแบบ Smiling depression มีอาการเช่นเดียวกันกับภาวะซึมเศร้าปกติ แต่มักปกปิด เมื่อเกิดความยากลำบากต่อการใช้ชีวิตและรู้สึกสิ้นหวัง จะไม่บอกใครว่าตนมีความทุกข์และมักแสดงออกด้วยการยิ้มแย้มต่อผู้คนอื่น อย่างไรก็ตามความรู้สึกเศร้าและความสิ้นหวังยังคงอยู่ โดยมากแนวโน้มมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น

อาการยิ้มแย้มปกปิดภาวะซึมเศร้า และสิ้นหวังเป็นผลมาจากความทุกข์ใจ เครียด วิตกกังวลที่ไม่สามารถพูดหรือระบายกับใครได้จึงรู้สึกหมดไฟ หมดพลังงาน ในการต่อสู้กับชีวิตและมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นความผิดปกติในภาวะซึมเศร้าแบบหลบซ่อนนี้ได้

 

Smiling depression มีความน่ากลัว และส่งผลร้ายรุนแรงต่อชีวิตอย่างคาดไม่ถึง เพราะผู้มีภาวะ Smiling depression อาจไม่ได้รับความช่วยเหลือเหมือนภาวะซึมเศร้าที่แสดงอาการออกให้เห็นตามปกติ

ล่าสุดศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดังระดับโลกอย่าง CoCo Lee เลือกจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายภายในบ้านเนื่องจากไม่สามารถจัดการกับภาวะซึมเศร้าที่ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานมานานหลายปี

การเสียชีวิตเพียงอายุ 48 ปีทำให้คนใกล้ชิดช็อคเพราะภายนอกเธอดูมีความสุขและยิ้มแย้มตลอดเวลา CoCo Lee สามารถไปทำงานและพบปะสังสรรค์กับผู้คนตามปกติเหมือนไม่มีปัญหาชีวิตใด และยังดูร่าเริงท่ามกลางผู้คนรอบข้าง

มีข่าวออกมาเป็นระยะก่อนหน้าว่าเธอทนทุกข์ทรมานกับชีวิตแต่งงาน อีกทั้งเธอยังมีความเจ็บป่วยด้านร่างกายที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เหตุการณ์เสียชีวิตของเธอทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตประเทศอเมริกาออกมาแจ้งเตือนให้ตระหนักรู้และตื่นตัวกับภาวะซึมเศร้าภายใต้รอยยิ้มหรือ Smiling depression ในวงกว้าง

 



อาการที่พบในภาวะซึมเศร้า Smiling depression มีดังนี้

1. แสดงออกด้วยการยิ้ม แม้จะไม่เพลิดเพลินหรือรู้สึกอยากทำอะไร และเหมือนสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ต้องทำ

2. ยิ้มทั้งที่ในใจรู้สึกเปราะบาง ไม่มีพลังเหนื่อยง่าย

3. ยิ้มในเวลาที่วิตกกังวล หวาดกลัว

4. กังวล เครียด นอนไม่หลับ

5. มีความคิดและพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง หรือความคิดอยากฆ่าตัวตาย

อาการของภาวะ Smiling depression เหมือนกับภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไป เพียงแต่ผู้มีภาวะซึมเศร้ามักปกปิดและเก็บอาการ ซึ่งอาการของภาวะซึมเศร้าโดยปกติมีอาการต่างๆ ได้แก่ เศร้า ร้องไห้ง่าย เปราะบาง เหนื่อยหน่าย หมดพลัง อ่อนแรงไม่มีชีวิตจิตใจในการทำสิ่งที่ชอบหรือรู้สึกหมดแรงในการต่อสู้ชีวิต รู้สึกท้อแท้สิ้นหวังหดหู่ ทั้งนี้ระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม Smiling depression มีความแตกต่างเนื่องจากในคนที่มีภาวะซึมเศร้าชนิดนี้ มักอยู่กับภาวะซึมเศร้าในโลกภายในของตัวเอง และแสดงออกภายนอกเป็นปกติดูมีความสุข ชีวิตเหมือนไม่มีความเศร้าใดๆ

 

ทำไมคนมีภาวะ Smiling depression ถึงแสดงออกตรงกันข้ามกับความเป็นจริง?


ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาให้หลักเหตุผลไว้ 4 ข้อดังนี้

1.   ไม่ต้องการทำให้ใครผิดหวัง

คนที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าภายใต้รอยยิ้ม บางครั้งเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่นหรือคนในครอบครัว ดังนั้นจึงไม่ต้องการแสดงออกว่าตนกำลังมีความทุกข์ใจ ไม่สบายใจ มีปัญหาด้านสุขภาพจิตใจ เพราะรู้สึกว่าจะเป็นการทำให้คนที่รักผิดหวังหรือไม่สบายใจจึงเก็บความซึมเศร้านี้ไว้กับตัวเองโดยไม่ให้ใครรู้  

Smiling depression มักพบในบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีชื่อเสียงเงินทอง และคนมีชีวิตภายนอกดูสมบรูณ์แบบ จึงไม่ต้องการให้ผู้อื่นเห็นความอ่อนแอเพราะกังวลหรือกลัวที่จะถูกตัดสินหรือถูกวิพากวิจารณ์

2.     คิดว่าเดี๋ยวชีวิตก็มีความสุขเอง

Smiling depression มักแสร้งทำว่ามีความสุขเพื่อหวังว่าชีวิตจะมีความสุขแบบที่แสดงออกจริงสักวัน ความคิดที่ว่า “Fake it till you make it.” อาจใช้ไม่ได้กับสถานการณ์แบบนี้ เพราะนั่นยิ่งเป็นการทำให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจล่าช้าไปอีก ยิ่งไปกว่านั้นการฝืนยิ้มหรือแกล้งทำเป็นมีความสุขเป็นการบังคับตัวเองที่จะทำให้ผู้อื่นหรือคนรอบข้างมีความสุขโดยไม่ได้คิดถึงตัวเองหรือใส่ใจที่จะดูแลสภาพจิตใจของตนเองในยามอ่อนแอ

3.     ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้อื่น

บางครั้งคนที่มีภาวะ Smiling depression รู้สึกว่าได้รับการชื่นชมจากผู้อื่นคนรอบข้างในการเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ มีความสุข สมบรูณ์แบบในทุกๆด้านทำให้ตังเองรู้สึกไม่อยากแสดงออกในทางขัดแย้ง จึงรู้สึกต้องทำตามที่ผู้อื่นได้ชื่นชมไว้ และอาจรู้สึกไร้ค่ากับตัวเองหากไม่เป็นไปตามนั้น

4.     อยากบอกคนอื่นแต่ทำไม่ได้

คนที่มีภาวะ Smiling depression รู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจหรือไม่มีใครปรึกษาได้ ภายใต้รอยยิ้มมีความเศร้าทุกข์ใจซ่อนอยู่และเมื่ออยากขอความช่วยเหลือกับคนสนิทกลับได้รับคำตอบว่า “คุณไม่ดูเหมือนเป็นซึมเศร้าเลย” คำพูดลักษณะนี้ยิ่งทำให้ผู้มีภาวะซึมเศร้ายิ่งสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อปกปิดภาวะซึมเศร้าที่มีอยู่และไม่คิดจะเรียกร้องหาความช่วยเหลือหรือที่พึ่งทางใจอีก

 


 

สัญญาณเตือนภาวะภาวะซึมเศร้าภายใต้รอยยิ้ม (smiling depression)

ถึงแม้ว่าภาวะภาวะซึมเศร้าภายใต้รอยยิ้ม (Smiling depression) ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในสาราณุกรมการวินิฉัยภาวะซึมเศร้าทางจิตเวชในคู่มือ DSM-5 แต่อาการของภาวะซึมเศร้าชนิดนี้เป็น Major Depressive Disorder

Smiling depression เป็นภาวะซึมเศร้าในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบปกติแต่ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมเหมือนภาวะซึมเศร้าที่อยู่ในตำราวินิฉัยภาวะซึมเศร้าทางจิตเวช

ผู้มีภาวะซึมเศร้าแสดงออกด้วยการยิ้มแย้มตามปกติ แต่ควรเฝ้าสังเกตอาการให้ดีเนื่องจาก Smiling depression มีความเสี่ยงสูงต่อความคิดทำร้ายตัวเอง นำสู่ภาวะความเจ็บป่วยด้านร่างกายต่างๆ และมีพฤติกรรมการฆ่าตัวตายสูงเมื่อเทียบกับภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไป

Smiling depression อาจสังเกตยากเนื่องจากผู้มีภาวะซึมเศร้าแสร้งทำเป็นมีความสุข แต่อย่างไรก็ตามให้คอยเฝ้าดูเป็นพิเศษหากเกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในชีวิตที่สำคัญๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เช่น เพิ่งหย่าร้างเลิกรากับคนรัก หรือการสูญเสียหน้าที่การงานที่สำคัญ เป็นต้น

 



Smiling depression บางครั้งอาจมีอาการเหล่านี้ร่วมดัวย เช่น

  • ปวดหัว ปวดหลัง
  • ไม่มีเพื่อนหรือคนสนิทไว้คอยปรับทุกข์
  • เริ่มใช้สารเสพติดหรือเสพติดการดื่มสุรา


วิธีดูแลตัวเองเมื่อเกิดภาวะ Smiling depression

1. ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาหากไม่สามารถระบายความทุกข์หรือพูดความในใจกับใครได้ โดยควรซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองและไม่ควรแสร้งว่าตนเองปกติ

2. ควรใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติบ้างเพื่อให้จิตใจสงบ

3. ออกกำลังกายอย่างน้อย 10-15 นาทีทุกวันเพื่อช่วยปรับสมดุลด้านอารมณ์ให้ปกติ

4. ฟังเพลง ทำงานศิลปะ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่รู้สึกเพลิดเพลินเพื่อผ่อนคลาย

5. ฝึกสมาธิเพื่อฝึกจิตใจให้สงบ


 

EMDR Therapy ช่วยรักษาภาวะซึมเศร้า (Depression) และ บาดแผลทางใจ (PTSD) ได้อย่างไร?

Eye Movement Desensitization and Reprocessing (EMDR) Therapy เป็นวิธีการจิตบำบัดที่คิดค้นและพัฒนาโดย Francine Shapiro นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน

ความสำคัญของจิตบำบัดแบบ EMDR เชื่อว่า สมองของเราทำหน้าที่จัดเก็บประมวลผลข้อมูลและความทรงจำ แต่ว่าบางครั้งการประมวลผลข้อมูลของสมองเกิดการติดขัดไม่สามารถทำงานได้สมบรูณ์อันเนื่องมากจากการถูกกระทบด้านอารมณ์ หรือด้านร่างกายที่ทำให้การทำงานของสมองเกิดถูกขัดจังหวะ

ดังนั้น EMDR Therapy เป็นการทำงานกับสมองด้านความทรงจำในการช่วยลดความเครียดรุนแรงที่ส่งผลเสียต่อสมองด้านความคิดลบ ทัศนคติด้านลบต่อตัวเองและผู้อื่น ส่งผลต่อความอ่อนแอด้านร่างกายที่แสดงออกในรูปแบบต่างๆ

EMDR Therapy ใช้ได้ผลอย่างมากในการรักษาปมบาดแผลทางใจ ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ภาวะ Panic attack (ตื่นตระหนก) โรคกลัว (Fear and Phobias) รวมทั้งความผิดปกติด้านจิตใจอื่นๆ ที่มักส่งผลต่อความเจ็บป่วยเรื้อรังทางร่างกาย

หลักการในการบำบัดด้วย EMDR เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวดวงตา (เป็นรูปแบบหนึ่งในสามรูปแบบที่ใช้กระตุ้นสมอง) โดยทำตามขั้นตอนที่จะนำทางโดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตบำบัด EMDR

เป้าหมายคือเพื่อช่วยลดอาการด้านจิตอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความคิดและความทรงจำด้านลบ ลดการถูกกระตุ้นจากความรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่สร้างปมบาดแผลทางใจ โดยทำตามกระบวนการขั้นตอนเพื่อช่วยลดระดับความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่ออารมณ์EMDR Therapy เป็นวิธีการบำบัดจิตใจที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

ประสิทธิภาพของ EMDR Therapy

EMDR Therapy ช่วยเข้าจัดการกับประสบการณ์ด้านลบความทรงจำเลวร้ายที่เป็นบาดแผลทางใจมายาวนานโดยไม่ได้รับการแก้ไขซึ่งสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันทำให้ถูกรบกวน มีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกทัศนคติความคิดด้านลบ

หลังได้รับการบำบัดด้วย EMDR Therapy ทำความเข้าใจในกระบวนการรักษา และให้ความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญให้ทำงานไปได้ดีกับกระบวนการจะทำให้สมองได้รับการจัดประมวลผลเก็บข้อมูลใหม่ ทำให้ได้รับการบำบัดฟื้นฟูด้านจิตใจและทำให้ความเจ็บปวดจากบาดแผลทางใจในอดีตผ่านพ้นไปได้และเกิดการจัดเก็บข้อมูลในสมองที่สมบรูณ์

ความทรงจำที่เคยติดขัดที่เคยทำให้เกิดภาวะนอนไม่หลับ วิตกกังวล เครียด ก็จะหายไป และภาวะซึมเศร้าจะดีขึ้นตามลำดับ

EMDR Therapy สามารถช่วยให้เราจัดการกับภาวะซึมเศร้า ความโกรธ อาการเศร้าเสียใจ ความรู้สึกโทษตัวเอง หรือความรู้สึกผิด ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความกลัวได้ดีขึ้น EMDR Therapy ยังช่วยให้เราเข้าใจอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราและมีวิธีจัดการกับอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากอาการภาวะซึมเศร้าทำให้ทุกข์ทรมานและสิ้นหวังกับวิธีการอย่างอื่นมา อย่าเพิ่งท้อและหมดหวังลองเปลี่ยนมาทำจิตบำบัดแบบ EMDR ที่ทำงานตรงด้านระบบสมองความคิดและความทรงจำเพื่อช่วยรักษาอาการภาวะซึมเศร้าให้หายเป็นปกติ

 
อ้างอิง


https://www.embarkbh.com/blog/smiling-depression/
https://www.medicalnewstoday.com/articles/smiling-depression
https://www.healthline.com/health/depression/atypical-depression#symptoms
https://www.webmd.com/depression/smiling-depression-overview
https://paradigmtreatment.com/people-smiling-depression/



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้