เล่นดนตรีไม่เป็น วาดรูปไม่ได้ สามารถรับกระบวนการจิตบำบัด ด้วยเทคนิค GIM หรือ MI ได้ไหม?

1804 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เล่นดนตรีไม่เป็น วาดรูปไม่ได้  สามารถรับกระบวนการจิตบำบัด  ด้วยเทคนิค GIM  หรือ MI ได้ไหม?

เล่นดนตรีไม่เป็น วาดรูปไม่ได้

สามารถรับกระบวนการจิตบำบัด

ด้วยเทคนิค GIM

หรือ MI ได้ไหม?

 

 

 

 

 

ดร. ชนารี เลาหะพงษ์พันธ์ (Ph.D)

นักจิตวิทยาให้การปรึกษา(Music & Imagery) 

และเทคนิคเฉพาะด้าน Guilded Imagery&Music(GIM) 

           


 

           Guided Imagery & Music (GIM) และ Music & Imagery (MI) เป็นอีกหนึ่งเทคนิคภายใต้ดนตรีบำบัด โดยใช้บทเพลงคลาสสิคหรือบทเพลงร่วมสมัย ที่มีการคัดเลือกและเรียบเรียงเพื่อนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ ที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างนักจิตวิทยาบำบัดและผู้ถูกบำบัดตั้งแต่ขั้นตอนคือการพูดคุยซักถามปัญหาและความต้องการจากกระบวนการบำบัดในแต่ครั้ง


และคำถามที่ได้รับเป็นอันดับต้นๆจากผู้รับการบำบัดคือ ต้องเล่นดนตรีเป็นไหม? วาดรูปไม่เป็นจะทำได้หรอ? บทความนี้ตั้งใจจะชวนผู้อ่านมาหาคำตอบกัน และบทความนี้จะเน้นถึงเทคนิค GIM เป็นหลัก

คำตอบคือ 'ได้แน่นอน'

เพราะการทำดนตรีบำบัดด้วยเทคนิค GIM นั้น มิได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างทักษะด้านทฤษฎีหรือการเล่นดนตรี ในทางตรงกันข้าม ดนตรีที่นำมาใช้ใน GIM นั้น ถือเป็นเครื่องมือสำหรับผู้รับการบำบัดให้มีความตระหนักในศักยภาพของตนเอง

            ปรัชญาด้านจิตวิญญาณ และใช้พลังของดนตรีที่ถูกเลือกใช้ในแต่ละครั้งของการบำบัด ช่วยในการเจริญเติบโตของจิตใจ ดังนั้นผู้รับการบำบัดจึงสามารถใช้จินตนาการ เชื่อมต่อกับบทเพลงได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นภาพที่ปรากฎ สัญลักษณ์ เรื่องราว ความรู้สึก หรือประสาทสัมผัสในร่างกาย

เช่น รู้สึกเย็นที่ปลายนิ้วมือหรือเท้า หายใจถี่ขึ้น ปวดเกร็งบางส่วนของร่างกาย หรือได้กลิ่นบางอย่างที่ทำให้นึกถึงความทรงจำในอดีต ดังนั้นทักษะหรือความรู้ทางด้านดนตรีแทบจะกล่าวได้ว่าแทบไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับผู้รับการบำบัด
         
เพราะอะไรจึงรู้สึกเช่นนั้น

            อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ดนตรีทำหน้าที่ในการเชื่อมต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้รับการบำบัด ที่นำพาไปสู่ 'ความฝันที่รู้ตัว' หรือ lucid dream คือสภาวะที่เรารู้ตัวว่าเรากำลังฝันอยู่และอาจจะควบคุมความฝันในบางส่วนได้

เนื่องจากกระบวนการ GIM จะใช้บทเพลงตามหมวดหมู่ที่มีการเรียบเรียงไว้แล้วซึ่งจะมีความยาวโดยประมาณ 4 - 6 บทเพลง โดยใช้เวลาประมาณ 25 - 40 นาที ดังนั้นในแต่ละบทเพลงจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป

เช่น ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สภาวะเหนือธรรมดาของจิตสำนึก (non ordinary state หรือ NOS) โดยใช้ดนตรีที่กระตุ้นความรู้สึกในนึกถึงเหตุการณ์หรือสัญลักษณ์บางอย่างในอดีต

หรือท่วงทำนองที่เร้าความรู้สึกอย่างเข้มข้นเพื่อให้ผู้บำบัดเข้าถึงความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ภายในใจมากข้ึน และสุดท้ายค่อยๆนำพาผู้รับการบำบัดกลับสู่สภาวะการรับรู้ในปัจจุบันเมื่อบทเพลงสุดท้ายได้สิ้นสุดลง



 

วาดภาพไม่เป็นแล้วจะ OK ไหม

            หลังจากดนตรีจบแล้ว ผู้รับการบำบัดจะค่อยๆปรับความรู้สึกและร่างกายเพื่อเข้าสู่สภาวะปัจจุบันและเตรียมทำศิลปะแนว mandala ที่สะท้อนความรู้สึกในใจช่วงที่รับฟังบทเพลง

ซึ่งนักจิตวิทยาบำบัดจะมีบทบาทในการสนับสนุนและทำให้ผู้รับการบำบัดเข้าใจว่าภาพ mandala นี้ ไม่ได้ทำมาเพื่อความสวยงามหรือสมบรูณ์แบบเชิงศิลปะ

ในทางตรงกันข้าม mandala ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้รับการบำบัดถ่ายถอดความรู้สึก เรื่องราวหรือสัญลักษณ์ จากสีที่เลือกใช้ น้ำหนักของลายเส้น หรือองค์ประกอบอื่นๆ และการตั้งชื่อภาพของ mandala ตนเอง

ขั้นตอนต่อไปคือการพูดคุยระหว่างนักจิตวิทยาบำบัดและผูรับการบำบัดโดยใช้ภาพเป็นส่วนหนึงของกระบวนการให้คำปรึกษา

 

ประโยชน์ของ GIM ทางการแพทย์มีอะไรบ้าง

            ตั้งแต่ในยุคแรกเริ่มที่มีการนำเทคนิค GIM มาใช้ควบคู่กับคนไข้ที่มีอาการทางกายภาพด้านอื่น เช่น ความดันโลหิตสูง รูมาตอยด์ พบว่าร่างกายของคนไข้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากเข้ารับการบำบัด GIM ร่วมกับกระบวนการรักษาโรคทางกายในระยะเวลา 6 - 10 ครั้ง (6 - 10 sessions) เป็นเวลา 3 - 5 สัปดาห์

โดยมีระยะห่างต่อครั้งในทุกๆ 2 สัปดาห์ หรือใช้กับคนไข้ที่มีอาการซึมเศร้าในระดับน้อยถึงปานกลาง (mild-moderate mental disturbance) โดยมีการเพิ่มระยะเวลาในการบำบัดเป็น 12 สัปดาห์และให้คนไข้ทำแบบประเมิน

ผลลัพท์ที่ได้คือ คะแนนความรู้สึกซึมเศร้าลดลง ความเหนื่อยล้าลดลง และระดับฮอร์โมนแห่งความเครียด (cortisol) ก็ลดลงเช่นกัน

หลังจากนั้นยังคงมีการติดตามผลอย่างเป็นระยะภายใน 6 สัปดาห์ พบว่าสภาวะอารมณ์และคุณภาพชีวิตในด้านอื่นๆมีแนวโน้มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น (Grocke D., 2016 as cited in Deleo C., 2016 Chapter 12)*

 


            อย่างไรก็ตามเทคนิค GIM จะมีการปรับหรือยืดหยุ่นได้เสมอขึ้นอยู่กับสภาวะและความพร้อมของคนไข้หรือผู้เข้ารับการบำบัด ตัวอย่างเช่น ในบางกรณีที่คนไข้หรือผู้รับการบำบัดยังคงมีสภาวะจิตใจที่เปราะบาง

นักจิตวิทยาบำบัดจะมีการประยุกต์เพื่อให้เหมาะเป็นรายกรณีไป เช่น เพิ่มเวลาในการพูดคุยในตอนต้น ตัดบาง บทเพลงออกเพื่อให้ระยะเวลาสั้นลง หรือเลือกใช้เพลงร่วมสมัย (contemporary) ที่ถูกเลือกและเรียบเรียงสำหรับเทคนิค GIM โดยเฉพาะ         

สรุปคือ ผู้รับการบำบัดด้วยเทคนิค GIM ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านตนตรีหรือศิลปะ เนื่องจากปลายทางของกระบวนการบำบัดคือเน้นให้คนไข้ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกข้างในและค่อยๆแสดงมาเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยาบำบัด

ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นทักษะด้านดนตรีหรือศิลปะใดๆ โดยทั่วไประยะเวลาของการทำ GIM จะอยู่ที่ประมาณ 6 ครั้ง ทุกๆ 2 หรือ 4 สัปดาห์ ทั้งนี้การกำหนกระยะเวลาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนักจิตบำบัดและความต้องการของคนไข้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้รับการบำบัดสามารถใช้ GIM เป็นหลักหรือใช้ควบคู่กับการรักษาด้านอื่นๆได้ โดยที่ผู้รับการบำบัดจะต้องได้รับการดูแลแนะนำจากแพทย์ที่รักษาอยู่ในปัจจุบันและนักจิตบำบัดที่ได้รับการฝึกฝนเฉพาะด้านทาง GIM เพื่อประโยชน์อันสูงสุดของผู้รับการบำบัด

 

เรายังมีบทความดีๆ ด้านจิตวิทยา ดนตรี และเทคนิค GIM/IM อีกมากมาย ติดตามได้ที่นี่

 

Reference:

Deleo C. (2016). Envisioning the Future of Music Therapy. Chapter 12 The Future of the Bonny Method of Guided Imagery and Music, p. 104 - 111. Temple Univer

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้