59 จำนวนผู้เข้าชม |
ทำไมชีวิตคู่ถึงทะเลากันบ่อย
ดร.มฤษฎ์ แก้วจินดา (Ph.D.)
นักจิตวิทยาการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
EMDR Psychotherapy Supervisor and Brainspotting Psychotherapy Practictioner
ชีวิตคู่ทะเลาะกันบ่อยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ
ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับความคาดหวัง การสื่อสาร ความแตกต่างด้านบุคลิกภาพ หรือความเครียดจากปัจจัยภายนอก โดยสามารถสรุปสาเหตุหลักๆ ได้ดังนี้:
1. การสื่อสารไม่ตรงกัน
เป็นพฤติกรรมการสื่อสารกันคนละทิศทาง พูดกันไม่รู้เรื่อง รวมถึงทัศนคติและการรับรู้ไม่ไปด้วยกัน พูดคนละภาษา ขัดกับอารมณ์หรือไม่เข้าใจในความหมาย ไม่ฟังกันและกันและต้องการแต่อยากเอาชนะ หรืออาจเข้าใจผิดเพราะตีความคำพูดหรือท่าทีอีกฝ่ายผิดไป
2. ความคาดหวังที่ไม่ตรงกัน
คู่รักมีความคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะรู้ว่าเราคิดอะไรในใจโดยไม่ต้องพูดอะไรออกมามากมาย ซึ่งหลายครั้งในความเป็นจริงอาจทำให้ความเข้าใจคาดเคลื่อนมากกว่าการสื่อสารออกมาตรงๆ รวมทั้งมีความคาดหวังกับบทบาทในชีวิตคู่ของแต่ละฝ่ายที่ไม่ตรงกัน เช่น ด้านการเงิน การงาน การดูแลงานบ้าน การดูแลลูก โดยที่ไม่ได้วางแผนหรือไม่ได้ตกลงกันไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรก
3. ความแตกต่างด้านนิสัยและบุคลิก
เช่น คนหนึ่งมักใช้ความเงียบ แต่อีกคนต้องการพูดถึงปัญหาและพยายามเคลียร์ปัญหา คนหนึ่งอาจต้องการพื้นที่ส่วนตัวในบางเวลา แต่อีกฝ่ายกลับรู้สึกถูกละเลยทอดทิ้งให้อยู่กับความรู้สึกแย่ๆ เพียงลำพัง
4. ความเครียดจากปัจจัยภายนอก
ได้แก่ ปัญหาด้านการเงิน ภาระหน้าที่การงาน ปัญหาครอบครัวของแต่ละฝ่าย หรือปัญหาจากคนรอบข้าง หรือญาติพี่น้อง
5. ความรู้สึกด้านลบสะสมและไม่ได้จัดการ
ปัญหาเล็กๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข สะสมจนเป็นปัญหาใหญ่ และวันหนึ่งระเบิดออกมา เช่น ปัญหาด้านความรู้สึก รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่ถูกเห็นค่า
6. การทะเลาะแบบไม่มีทักษะเชิงบวก
ได้แก่ การใช้คำพูดรุนแรง การพูดประชดประชัน การกล่าวโทษกันมากกว่าหาทางแก้ร่วมกัน ไม่ยอมยุติความขัดแย้งเมื่อบรรยากาศรุนแรงมากขึ้นก็ไม่มีการพักเพื่อให้ใจเย็นก่อนกลับมาคุยกันใหม่อย่างสร้างสรรค์
แนวทางป้องกันหรือลดความถี่ของการทะเลาะ
งานวิจัยพบว่าปัญหาสัมพันธภาพในชีวิตคู่ในเรื่องการสื่อสารและความเห็นที่ขัดแย้งบ่อยครั้งโดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือเพิ่มทักษะการใช้ชีวิตคู่ให้มีประสิทธิภาพมักสร้างให้เกิดปัญหาการนอกใจหรือไม่ซื่อสัตย์ต่อสัมพันธภาพในชีวิตคู่อย่างไรก็ตามการทรยศหักหลังหรือนอกใจในชีวิตคู่และชีวิตสมรส ตามสถิติการให้บำบัดโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสัมพันธภาพชีวิตคู่มีการเก็บสถิติว่าสามารถช่วยฟื้นฟูสร้างสัมพันธภาพที่ดีขึ้นใหม่ และมีความแข็งแกร่งกว่าเดิมขึ้นได้ถึงร้อยละ 57% หากทั้งคู่มารับการบำบัดฟื้นฟูด้านสัมพันธภาพชีวิตคู่จากผู้เชี่ยวชาญ โดยอาจศึกษาข้อมูลเบื้องต้นดังนี้
สร้างสัมพันธภาพชีวิตคู่ขึ้นใหม่ได้อย่างไรหลังถูกทรยศนอกใจ
การสร้างสัมพันธภาพชีวิตคู่ขึ้นใหม่หลังจากการถูกทรยศหักหลัง เช่น การนอกใจ แม้จะเป็นเรื่องยากแต่เป็นไปได้หากทั้งสองฝ่ายเต็มใจที่จะทำงานร่วมกันและได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัมพันธภาพคู่ชีวต โดยเฉพาะฝ่ายที่ทำผิดต้องยอมรับผิดอย่างจริงใจ และอีกฝ่ายที่ถูกกระทำต้องกล้าเปิดใจเยียวยาความเจ็บปวดอย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย
ขั้นตอนการฟื้นฟูความสัมพันธ์หลังถูกนอกใจ
1. ยอมรับความจริงและความรู้สึกที่กระทบ
ฝ่ายที่ถูกทรยศควรอนุญาตให้ตนเองรู้สึกเจ็บ โกรธ ผิดหวัง โดยไม่ทำตัวเองเก็บกด ฝ่ายที่ทำผิดต้อง ยอมรับผิดอย่างแท้จริง ไม่แก้ตัว ไม่โทษสถานการณ์
2. พูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและมีอิสระ
สื่อสารด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ใช่กล่าวโทษ เช่น “ฉันรู้สึกเจ็บและไม่มั่นใจในตัวคุณอีกต่อไป” ควรมีคนกลางคอยช่วย เช่น นักจิตวิทยาด้านความสัมพันธ์คู่รัก หากคุยกันเองแล้วยังทะเลาะถกเถียงกันทุกครั้ง
3. ตรวจสอบเจตนาของทั้งสองฝ่าย
ยังรักกันอยู่ไหม? อยากซ่อมความสัมพันธ์เพราะอะไร? หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังลังเลหรือซ่อนความจริง การเยียวยาจะไม่ยั่งยืน
4. ตั้งข้อตกลงใหม่ร่วมกัน
เช่น ความโปร่งใสในการใช้โทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย, พื้นที่ความเป็นส่วนตัว, มีการสื่อสารกันทุกวัน ตกลงกันว่าจะสร้างความไว้ใจขึ้นใหม่อย่างไร และมีวิธีแก้อย่างไรถ้าอีกฝ่ายรู้สึกยังไม่มั่นใจ และควรทำข้อตกลงใหม่กันอย่างไร
5. ฟื้นความไว้ใจทีละน้อย
ความไว้ใจต้องค่อยๆสร้างใหม่ ไม่ใช่เรียกร้องให้อีกฝ่ายเชื่อทันที ฝ่ายที่ทำผิดควร ลงมือพิสูจน์ ด้วยการกระทำสม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่เพียงคำพูด
6. ให้เวลาและพื้นที่กับความเจ็บปวด
การให้อภัยไม่เท่ากับการลืม ความเจ็บปวดอาจกลับมาเป็นระยะๆ ต้องเรียนรู้ที่จะรับมือโดยไม่ทะเลาะกันซ้ำๆ
ข้อมูลแนะนำจากนักจิตวิทยาความสัมพันธ์คู่รัก
กฎที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ใหม่
1. มีเจตนารมณ์ร่วมกัน
ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันว่า ต้องการเยียวยาความสัมพันธ์ครั้งนี้อย่างตั้งใจ จะเคารพความรู้สึกของกันและกันโดยไม่ตัดสิน จะไม่ใช้เหตุการณ์ในอดีตเป็นเครื่องมือทำร้ายกัน
2. มีคำมั่นจากฝ่ายที่เคยนอกใจ
ยอมรับผิดโดยไม่มีข้อแม้ ยุติความสัมพันธ์กับบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด พร้อมเปิดเผยและโปร่งใสในการใช้ชีวิตและการสื่อสารแสดงออกด้วยการกระทำไม่ใช่แค่คำพูด
3. มีคำมั่นจากฝ่ายที่ถูกกระทำ
เปิดใจให้โอกาสอีกครั้ง โดยไม่ละเลยความรู้สึกตนเอง พร้อมสื่อสารความเจ็บปวดอย่างสร้างสรรค์ ยอมรับว่าความไว้ใจอาจต้องใช้เวลา และไม่เร่งรัดตนเอง
4. ข้อตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
การสื่อสาร พูดคุยกันทุกวัน ใช้เวลาคุณภาพร่วมกันทุกสัปดาห์ แสดงความโปร่งใส ยินดีแชร์รหัส และให้ดูโทรศัพท์ได้เมื่อร้องขอ มีข้อตกลงการใช้โซเชียล เมื่อมีข้อขัดแย้ง หยุดพัก 15 นาทีแล้วกลับมาคุยใหม่
5. ความตั้งใจในอนาคต
สิ่งที่เราจะทำร่วมกันเพื่อลดระยะห่างทางใจมีอะไรบ้าง
ปัญหาสัมพันธภาพชีวิตคู่ การทรยศหักหลังนอกใจ มักสร้างให้เกดิความเจ็บปวด เป็นเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่สร้างให้เกิดปมบาดแผลทางใจ (Trauma) อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูสัมพันธภาพชีวิตคู่ให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งสามารถทำได้หากได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัมพันธภาพชีวิตคู่ ปัญหาการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอาจเริ่มจากปัญหาความไม่เข้าใจเพียงเล็กน้อยแต่อาจนำปัญหาใหญ่บานปลายมาสู่ชีวิตคู่ที่พังทลายได้หากไม่ตระหนักรู้และมารับบำบัดให้เกิดทักษะการใช้ชีวิตคู่อย่างถูกแนวทาง