1837 จำนวนผู้เข้าชม |
ประสงค์ศักดิ์ เจนกิจจาไพบูลย์
นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ
เหตุการณ์สะเทือนขวัญ ผลกระทบด้านจิตใจที่ผู้ใหญ่อาจคิดไม่ถึง
จากเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน ในการชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญมีทั้งเด็กและเยาวชนร่วมอยู่ในเหตุการณ์นี้โดยที่เด็กและเยาวชนได้ประสบเหตุอันน่าหวาดกลัว อย่างไม่ทันได้ตั้งตัว นักจิตวิทยามองว่า สถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประสบเหตุทุกคนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงด้านสุขภาพจิต เพราะเด็กมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ และรู้สึกเหมือนตัวเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่แล้วเด็กไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือวิกฤติเช่นนี้ ดังนั้นหลังจากเหตุการณ์รุนแรงนี้ผ่านไป พ่อ-แม่ หรือ ผู้ปกครองควรช่วยสังเกตอาการเพื่อสร้างความเข้าใจ และควรนำเด็กเข้ารับการประเมินความเสี่ยงจากทีมสุขภาพจิต เพื่อได้รับการดูแลด้านจิตใจเบื้องต้นจนสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้
เหตุการณ์สะเทือนขวัญลักษณะนี้มีการรายงานบ่อยครั้งแม้ในต่างประเทศอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีข่าวการกราดยิ่งในโรงเรียนโดยมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ผู้เห็นเหตุการณ์มีทั้งคุณครู และเด็กนักเรียน
จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลกระทบกระเทือนภาวะทางด้านจิตใจของเยาวชนหลังเหตุการณ์ผ่านไปที่เรียกว่า PTSD ( Post Traumatic Stress Disorder) ดังนั้นจึงควรมีการเฝ้าติดตาม สุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ และหมั่นสังเกตอาการที่กระทบจิตใจหลังจากเหตุการณ์รุนแรง ซึ่งอาการของ PTSD มักมีข้อสังเกตดังนี้
• ปัญหาด้านสุขภาพจิต
หวาดผวาในขณะเล่น หรือตอนทำกิจกรรมอื่นๆ อ่อนไหวง่าย หรือร้องไห้ง่าย ตกใจง่าย หงุดหงุดง่ายโดยไม่มีเหตุผล เหม่อลอย วิตกกังวล มีภาวะซึมเศร้า ไม่กล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่อาจทำให้นึกถึงเหตุการณ์รุนแรงนั้นอีก ตื่นตระหนกอยู่ตลอดเวลา ฝันร้าย หรือ มีปัญหาการนอนหลับ
• ปัญหาด้านพัฒนาการ
มีแนวโน้มพัฒนาการด้านร่างกายหยุดชะงัก ปัสสาวะรดที่นอน จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว
• ปัญหาด้านการเรียน
อาจมีปัญหาเรื่องการเรียน สมาธิสั้น จิตใจเหม่อลอย ผลการเรียนตก
• ปัญหาด้านพฤติกรรม
มีความเสี่ยงเกิดพฤติกรรม ก้าวร้าว เก็บตัว เซื่องซึม ถูกรบกวนสมาธิได้ง่าย ไม่ฟังคนอื่น ไม่มีระเบียบในการจัดการชีวิต ไม่นิ่ง ขาดการพักผ่อน
ผู้ปกครองและครอบครัวสามารถช่วยเด็กและเยาวชนรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. ให้เด็กได้เล่าเรื่อง
เปิดโอกาสให้ลูกพูดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปผ่านกิจกรรมการเล่น การแสดงบทบาทสมมติ และการวาดรูปหรืองานศิลปะ หากเด็กต้องการเล่ารายละเอียด บอกถึงอารมณ์ ความรู้สึกที่ตนเองได้รับผลกระทบนั้น ผู้ปกครองก็ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่าโดยไม่บังคับ และอาจกระตุ้นชวนให้เด็กได้แบ่งปันความคิด และถามคำถามต่างๆโดยผู้ปกครองรับฟังด้วยความตั้งใจ ใส่ใจโดยไม่ขัดจังหวะ ไม่แทรกความคิดเห็นส่วนตัว ให้การกอด และการสัมผัส เป็นการปลอบโยนและให้กำลังใจ ก็จะทำให้ลดความรุนแรงของผลกระทบทางจิตใจได้
2. อยู่ใกล้ชิดเด็ก
ให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย เด็กจะรู้สึกสงบและ เชื่อมต่อตนเองกับผู้อื่น รู้สึกมีความหวังและเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรม รับผิดชอบการดูแลตนเองเพื่อส่งเสริมความมั่นใจในกิจวัตรประจำวัน
3. ลดการดูข่าวรุนแรง
ลดการดูสื่อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงหรือสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันหลังจากนั้น
4. ส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม
เมื่อเด็กพร้อมควรกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่า ตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง เช่น เป็นจิตอาสาหรืออาสาสมัครในการสร้างชุมชนปลอดภัย ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ บำเพ็ญประโยชน์เพื่อช่วยเพิ่มคุณค่าทางจิตใจและฟื้นฟูสภาพจิตใจให้สามารถกลับมาดูแลตนเองหรือใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้หากพบความเครียด กังวล ภาวะซึมเศร้า หรืออารมณ์เศร้า พฤติกรรมของเด็กแตกต่างจากเดิม ก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีเช่นเดิมต่อเนื่องหลังผ่านเหตุการณ์เกิน 2 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาทีมสุขภาพจิตเพื่อให้ได้คำแนะนำที่เหมาะสมในการดูแลปฏิบัติ เพื่อฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจของเด็กและเยาวชนให้กลับมาเป็นปกติ และป้องกันไม่ให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพใจและกายในระยะยาวได้
อ้างอิง: psycho.net
www.bettermindthailand.com
www.facebook.com/bettermindthailand